สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เดิมชื่อ สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓ ทรงเป็นบุตรคนที่ ๓ ของพระชนกชู และ พระชนนีคำ ทรงมีพระภคินี และพระเชษฐา ๒ คน ซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย เหลือแต่พระอนุชา คือ คุณถมยา ซึ่งอ่อนกว่าพระองค์ ๒ ปี พระชนกชู มีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรคหบดี ชื่อ ชุ่ม มีเชื้อสายสืบจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้ ๆ วัดอนงคาราม พระชนกชูได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาก และพระชนนีคำถึงแก่กรรมเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ เพียง ๙ พรรษา หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของป้าซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างมวนบุหรี่ และทำขนมขาย
พระชนนีคำเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษในการอ่านและรู้หนังสือ จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่ได้ผลักดันให้พระองค์ทรงก้าวสู่การศึกษาขั้นสูงขึ้นต่อไป ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงเฉลียวฉลาด ญาติของครอบครัวพระชนกชูมาแนะนำพระชนนีคำ ให้นำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปฝากคุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นญาติ และเป็นพระพี่เลี้ยงของ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสรินธร พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระบรมราชชนก และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ด้วยพระชนมายุเพียง ๗-๘ พรรษา ต่อมาพระองค์ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยประทับอยู่บ้านคุณหวน หงสกุล ข้างวัดมหรรณพาราม ระหว่างประทับอยู่ที่บ้านคุณหวน พระองค์ทรงถูกเข็มเย็บผ้าตำฝ่าพระหัตถ์ ต้องเข้ารับผ่าตัดกับพระยาดำรงแพทยกุล (ฮวด วีระไวทยะ)
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ทรงไปศึกษาวิชาพยาบาล ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ ปีที่ ๑ ที่โรงเรียนแพทย์มหาลัยฮาร์วาร์ด ทรงพบและพอพระทัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่น ๆ จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์ และมีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๖๓ หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และเสด็จไปสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน และทรงให้สมเด็จพระบรมราชชนนี เรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน
หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงจบการศึกษา ทรงเสด็จที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล" ภายหลังทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ในเดือน ตุลาคม ๒๔๖๖ เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระราชธิดาเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ประทับอยู่ประมาณ ๒๐ เดือน สมเด็จพระบรมราชชนกทรงประชวร แพทย์ถวายคำแนะนำให้ประทับในที่อากาศเย็น สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกและพระราชธิดาไปประทับที่เมือง ไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมันดี สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก เมื่อ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าอานันทมหิดล”
ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียว เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระราชชนก ทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตันสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงเรียนแพทย์ที่มหาลัยฮาร์วาร์ด ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงเรียนวิชาจิตวิทยาการทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนด์ระยะหนึ่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชโอรสองค์ที่สอง ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ” พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”
ขณะที่ทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้าย สมเด็จพระบรมราชชนกทรงประชวรโรคพระวักกะกำเริบ และพระโรคหวัด แต่ทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม หลังจากสอบเสร็จ ประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ ต้องรับการผ่าตัด เมื่อหายประชวรทั้งสองพระองค์ได้พาพระราชโอรส ธิดาเดินทางกลับประเทศไทย โดยประทับที่พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นในวังสระปทุม ด้านถนนพญาไท ในเมษายน ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับเชิญเป็นแพทย์ประจำบ้าน จากโรงพยาบาลแมคคอร์มิก ที่เชียงใหม่ ในเดือนต่อมา ทรงเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นทรงพระประชวรอยู่ประมาณ ๔ เดือนก็สิ้นพระชนม์เมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ ณ พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษา ทรงรับหน้าที่อบรม เลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงแนะนำให้สมเด็จพระบรมราชชนนีพาพระราชนัดดา เสด็จไปศึกษาต่อยังเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ ในการประชุมสภาผู้แทนราฎร ได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาลให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์ สืบพระราชสันตติวงศ์ เป็นพระองค์ที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๙ พรรษาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติตั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชปิโยรส สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงต้องทรงย้ายไปประทับที่บ้านเช่าค่อนข้างใหญ่ ณ เมืองปุยยี อยู่ใกล้เมืองโลซาน ทรงตั้งชื่อว่า “วิลล่าวัฒนา” สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเอาพระทัยใส่ ดูแลพระอนามัย และระเบียบวินัย ของพระราชโอรสธิดาอย่างดีเยี่ยมและสม่ำเสมอ
ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา ได้เสด็จนิวัติพระนคร เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรก คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศ พระราชชนนีเป็น “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” เมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ตลอดเวลา ๒ เดือน ที่ประทับอยู่ในพระนคร สมเด็จพระราชชนนี ทรงปลูกฝังอบรมให้พระราชโอรสธิดาใฝ่ในการกุศลศิลปวัฒนธรรมของชาติ ช่วยเหลือการสาธารณสุขและการแพทย์ ด้วยการพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลอานันทมหิดล ที่จังหวัดลพบุรี สร้างสุขศาลา ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ ในพ.ศ. ๒๔๘๕ สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ในพ.ศ. ๒๔๘๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน และอีกสองปีต่อมาสมเด็จพระอนุชาก็เสด็จ เข้าศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งที่ ๒ จนถึงเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงเลื่อนกำหนดเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ออกไปก่อน เพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก่ ปวงชนชาวไทย ใน ๙ พฤาภาคม ๒๔๘๙ พระองค์จึงทรงเลื่อนวันเสด็จกลับเป็นวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ เช้าวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ต้องพระแสงปืนสวรรคต
ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลอัญเชิญพระราชปิโยรสพระองค์ที่สอง ของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน โดยทรงเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่เคยทรงศึกษาเพื่อความเหมาะสม กับพระราชภารกิจแห่งพระมหากษัตริย์ แต่แล้วในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้องเสด็จฯ เข้ารักษาพระองค์ในสถานพยาบาล สมเด็จพระราชชนนีทรงทุ่มเทพระกำลังดูแลพยาบาลพระราชปิโยรส จนมีอาการดีขึ้น แพทย์จึงได้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จประทับเปลี่ยนอิริยาบถในชนบทเป็นการชั่วคราว
หลังจากนั้น พสกนิกรได้รับข่าวอันเป็นที่น่าปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาคนโตของ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ กับ หม่อมบัว กิติยากร เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒
หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าวังสระปทุม เมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ ต่อมาวันที่ ๕ พฤษภาคม ศกเดียวกัน ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง และสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ให้ดำรงราชฐานันดรเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อ ๕ เมษายน ๒๔๙๔ สมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ได้ทรงชื่นชมกับพระราชนัดดาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติที่เมืองโลซาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร ก็ได้มีพระประสูติกาลพระราชโอรสธิดา อีก ๓ พระองค์ ณ พระที่นั่ง อัมพรสถานพระราชวังดุสิต คือ
– สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ประสูติ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ใน พ.ศ.๒๕๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
– สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘ ใน พ.ศ.๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
– สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นผู้มีพระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญมาตลอด พระชนมชีพล้วนงดงาม สะอาด บริสุทธิ์ และเป็นประโยชน์คุณูปการอเนกอนันต์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ทรงเป็นแบบฉบับอันประเสริฐในการดำเนินชีวิต
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสู่สวรรคาลัย ในวันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ยังความวิปโยค โศกเศร้าอาลัยอย่างสุดซึ้งแก่พสกนิกรทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของชาติ แต่พระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณยังสถิตถาวรอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรตลอดนิรันดร์กาล
พระกรณียกิจ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติเป็น พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท และพระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องสุขภาพของประชาชนตลอดมา ดังเห็นได้จากการที่พระองค์ท่านได้มีพระมหากรุณาธิคุณก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา ซึ่งมีแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัช และประชาชนในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ร่วม เป็นอาสาสมัครในการให้บริการรักษาประชาชนที่มีปัญหาป่วยไข้และอยู่ห่างไกลสถานพยาบาล ตั้งแต่ ปี ๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน
ในปี ๒๕๒๙ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทย์ศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ทันตสาธารณสุข เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสวัน พระราชสมภพ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๙ เป็นครั้งแรกโดยระดมทันตบุคคลากรและอาสาสมัครจากภาค รัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศออกไปให้บริการตรวจรักษาฟันโดยไม่คิดมูลค่าแก่ ประชาชนใน ถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม
นอกจากนี้พระองค์ยังให้ความสำคัญใน วิชาชีพพยาบาล ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทรงให้ความสำคัญ ในวิชาชีพพยาบาลทัดเทียมกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและป้องกันโรค และเป็นวิชาชีพที่สมควรได้รับการยกย่อง พระองค์ทรงจัดตั้ง สภาการพยาบาลซึ่ง เป็นองค์กรควบคุมคุณภาพวิชาชีพพยาบาล ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การบริการ การวิจัย และบุคลากรของวิชาชีพพยาบาล ตลอดจนเป็นที่ปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะทางการพยาบาลต่อรัฐบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง รวมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการศึกษา การวิจัย การเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้า ความสามัคคี จริยธรรมและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ปัจจุบันสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสภาพยาบาล นานาชาติและได้พัฒนาวิชาชีพด้านการนำระบบสารสนเทศ (ICNP : International Classification Nursing Practice) เข้ามาปรับปรุงการให้บริการพยาบาลซึ่งจะส่งผลการพัฒนาการจัดการศึกษา และการให้บริการพยาบาลของพยาบาลสถานศึกษาและสถานพยาบาลในอนาคต
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข โดยจัดตั้ง
๑. หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ เดินไปในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และ เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน
๒. มูลนิธิขาเทียม เมื่อ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๕ ทำให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัว และครอบครัวได้
๓. มูลนิธิถันยรักษ์ ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ มีนาคม ๒๕๓๘ เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม ได้นำเงินพระราชทานและเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม แมมโมแกรม เครื่องอุลตราซาวด์ และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น และนำแพทย์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้เชี่บวชาญเรื่องตรวจ วินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
นอกจากนี้ ศูนย์ถันยรักษ์ยังได้เผยแพร่ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม และการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และร่วมมือกับหลายโรงพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับ เต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ฝึกอบรมรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคทั่วประเทศ ตามพระราชปณิธานที่จะให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นจากโรคมะเร็งเต้านม โดยได้รับความรู้ ความเข้าใจ และการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากศูนย์ถันยรักษ์โดยเท่าเทียมกัน
ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดต้นไม้ ดอกไม้ ธรรมชาติ ทรงสร้าง พระตำหนักดอยตุง ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในพื้นที่ขอเช่าจากกรมป่าไม้เป็นเวลา ๓๐ ปี บริเวณบ้าน อีก้อป่ากล้วย เนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐ เมตร ทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า “บ้านที่ดอยตุง” ทรงพัฒนาดอยตุง และส่งเสริมงานให้เขา ดังนี้
๑. ทรงพระราชทานกล้าไม้แก่ผู้ตามเสด็จ และทรงปลูกป่าด้วยพระองค์เอง
๒. ทรงนำเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา และนำไม้ดอกมาปลูก
๓. โครงการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง กล้วย กล้วยไม้ เพาะเห็ดหลินจือ สตรอเบอรี่
๔. จัดตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด บ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย พระองค์ทรงได้รับขนานนามว่า “สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง” ของปวงชนชาวไทย